วันพ่อแห่งชาติ
5 ธันวาคม ของทุกปี เป็นวันคล้ายวันพระราชสมภพ ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทางราชการได้กำหนดให้เป็นวันหยุดราชการหนึ่งวัน เพื่อให้ประชาชนชาวไทย ได้ร่วมกันเฉลิมฉลองในวันเฉลิมพระชนมพรรษา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และ ถือเป็นวันพ่อแห่งชาติ อีกวันหนึ่งด้วย วันเฉลิมพระชนมพรรษา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มีความเป็นมาของวันสำคัญ คือ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ทรงพระราชสมภพเมื่อ วันที่ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2470 ณ โรงพยาบาล เมาท์ ออเบิร์น นครบอสตัน สหรัฐอเมริกา โดยนายแพทย์วิทท์มอร์ เป็นผู้ถวายการประสูติ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จฯขึ้นเถลิงถวัลย์ราชสมบัติเป็นรัชกาลที่ 9 แห่งบรมจักรีวงศ์ กรุงรัตนโกสินทร์ ทรงประกอบพระราชกรณียกิจและเจริญพระราชจริยาวัตรเป็นเอนกประการ จำเนียรกาลผ่านมาถึงปัจจุบันที่สุดจะพรรณนาให้ครบถ้วนได้ ท่ามกลางมหาสมาคมวันพระราชพิธีพระบรมราชาภิเษก ทรงมีกระแสพระราชดำรัสที่พสกนิกรทุกคนยังจดจำได้ "เราจะครองแผ่นดินโดยธรรม" อันคำว่าโดย "ธรรม" นั้น ทรงหมายถึง ธรรมอันล้ำเลิศที่เรียกว่า "ทศพิธราชธรรม" หรือที่เรียกกันโดยสามัญว่า "ราชธรรม 10 ประการ" ราชธรรม 10 ประการนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงยึดมั่นทรงปฎิบัติโดยเคร่งครัด และส่งผลถึงพสกนิกรทั่วพระราชอาณาจักรนับเป็นพระมหากรุณาธิคุณเหนือเกล้าฯ
วันพ่อแห่งชาติ ได้จัดให้มีขึ้นครั้งแรกเมื่อวันที่ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2523 โดยคุณหญิงเนื้อทิพย์ เสมรสุต นายกสมาคมผู้อาสาสมัครและช่วยการศึกษาเป็นผู้ริ่เริ่ม หลักการและเหตุผลในการจัดตั้งวันพ่อ โดยที่พ่อเป็นผู้มีพระคุณที่มีบทบาทสำคัญ ต่อครอบครัวและสังคม สมควรที่ผู้เป็นลูกจะเคารพเทิดทูนตอบแทนพระคุณด้วยความกตัญญู และสมควรที่สังคมจะยกย่องให้เกียรติรำลึกถึงผู้เป็นพ่อ จึงถือเอาวันที่ 5 ธันวาคม ของทุกปีซึ่งเป็นวันเฉลิมพระชนมพรรษาเป็น "วันพ่อแห่งชาติ" ด้วยพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่ทรงมีต่อพสกนิกรชาวไทยอย่างนานัปการ ทรงเป็นพระราชบิดาของพระราชโอรสและพระราชธิดา ทรงรักใคร่และห่วงใยตั้งแต่พระเยาว์จนถึงปัจจุบัน รวมทั้งพระเจ้าหลานเธอทุกพระองค์ต่างซาบซึ้งและปลาบปลื้มในพระมหากรุณาธิคุณอย่างมิรู้ลืม พระองค์ทรงเป็น "พ่อ" ตัวอย่างของปวงชนชาวไทยที่เปี่ยมล้นด้วยพระเมตตากรุณา ทรงห่วงใยอย่างหาที่เปรียบมิได้
ความหมายตราสัญลักษณ์
อักษรพระปรมาภิไธย ภ.ป.ร. สีเหลืองนวลทอง อันเป็นสีประจำวันพระบรมราชสมภพ ขลิบรอบตัวอักษรด้วยสีทองบนพื้นสีน้ำเงินเจือทอง อันเป็นสีประจำสถาบันพระมหากษัตริย์ ล้อมด้วยเพชรอันเป็นเอกแห่งรัตนะ หมายว่า เหล่านักปราชญ์ ราชกวีสำคัญ อีกบรรดาช่างอันมีชื่อ พระยาช้างสำคัญ นางงาม เหล่าทแกล้วทหาร ข้าราชบริพาร อันยอดฝีมือในการปฎิบัติราชการอย่างสุจริตยิ่ง เหล่านี้เปรียบด้วยเพชรอันชื่อว่ารัตนะ แวดล้อมประดับพระเกียรติยศ แห่งพระมหากษัตริยาธิราชพระองค์นั้น อันเหนือยิ่งกว่าเพชรอันได้ชื่อว่ารัตนะทั้งปวง คือพระมหากษัตริย์ผู้ทรงสถิตเป็นเพชรอันยอดค่ายิ่งในดวงใจราฎร์ ทรงบำบัดทุกข์ผดุงสุข เป็นที่พึ่งอันเกษมสุขร่มเย็นกว่าปวงพระสกนิกร ซึ่งต่างเชื้อศาสนาในพระราชอาณาจักรของพระองค์
งานเฉลิมพระเกียรติเนื่องในวโรกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา ๘๐ พรรษา ๕ ธันวาคม ๒๕๕๐ พระราชลัญจกรประจำพระองค์ รัชกาลที่ ๙ เป็นภาพพระที่นั่งอัฐทิศอุทุมราชอาสน์ ประกอบด้วยวงจักรกลางวงจักรมีอักขระเป็นอุณาโลม รอบวงจักรมีรัศมีเปล่งออกโดยรอบ เหนือวงจักรเป็นเศวตฉัตร ๗ ชั้นตั้งอยู่บนพระที่นั่งอัฐทิศอุทุมพรราชอาสน์อันหมายถึง พระองค์ทรงเป็นพระมหากษัตริย์ มีพระบรมเดชานุภาพเป็นใหญ่ในแผ่นดิน โดยในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พระองค์ได้ประทับเหนือพระที่นั่งอัฐทิศอุทุมพรราชอาสน์ตามโบราณราชประเพณี และสมาชิกรัฐสภาได้ถวายน้ำอภิเษกจากทิศทั้งแปดเป็นครั้งแรก แทนราชบัณฑิตส่วนพระแท่นลานั้นโรยด้วยดอกพิกุลเงินพิกุลทอง ๙ ดอก พระราชลัญจกรล้อมรอบด้วยเพชร ๘๐ เม็ด หมายถึงพระชนพรรษา ๘๐ พรรษา ด้านบนพระราชลัญจกรเป็นพระมหาพิชัยมงกุฎ อันเป็นเครื่องประกอบพระบรมราชอิสริยยศของพระมหากษัตริย์ และเป็นเครื่องหมายแห่งความเป็นสมเด็จพระบรมราชาธิราช ภายในพระมหาพิชัยมงกุฎเป็นเลข ๙ หมายถึงรัชกาลที่ ๙ พระมหาพิชัยมงกุฎนั้นอยู่ด้านหน้าพระนพปฎลมหาเศวตฉัตร ซึ่งอยู่กึ่งกลางและขนาบข้างด้วยเศวตฉัตร ๗ ชั้น อันเป็นเครื่องแสดงพระราชอิสริยยศอันยิ่งใหญ่ของพระมหากษัตริย์ ด้านล่างพระราชลัญจกรเป็นเลข ๘๐ หมายถึงพระองค์มีพระชนพรรษา ๘๐ พรรษา ถัดจากเลขไทยลงมาเป็นแพรแถบบอกชื่องาน พระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนพรรษา ๘๐ พรรษา ๕ ธันวาคม ๒๕๕๐ แพรแถบนอกจากบอกชื่องานพระราชพิธีแล้ว ยังรองรับประคองเศวตฉัตรด้วย
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น