วันพฤหัสบดีที่ 10 กรกฎาคม พ.ศ. 2551


ปราสาทพระวิหารตั้งอยู่บนผาเป้ยตาดีของเทือกเขาพนมดงรัก ซึ่งเป็นเส้นเขตแดนระหว่างไทยกับกัมพูชา ตั้งอยู่ที่ละติจูดที่ 104 องศาตะวันออก 41 ลิปดา เดิมอยู่ในเขตหมู่บ้านภูมิซร็อล (แปลว่า บ้านต้นสน) ตำบลบึงมะลู (ปัจจุบันขึ้นกับตำบลเสาธงชัย) อำเภอกันทรลักษ์ จังหวัดศรีสะเกษ ประเทศไทย ห่างจากจังหวัดศรีสะเกษ 110 กิโลเมตร หลังจากคำพิพากษาของศาลโลกในปี พ.ศ. 2505 แล้ว ปราสาทพระวิหารอยู่ในบ้านสวายจรุม ตำบลก็อนตวต อำเภอจอมกระสานต์ จังหวัดพระวิหาร ประเทศกัมพูชา ปราสาทตั้งอยู่ห่างจากปราสาทนครวัดในเมืองพระนคร 280 กิโลเมตร และห่างจากกรุงพนมเปญ 296 กิโลมตร[7]

ปราสาทพระวิหารมีความยาว 800 เมตร ตามแนวเหนือใต้ และส่วนใหญ่เป็นทางเข้ายาว และบันไดสูงถึงยอดเขา จนถึงส่วนปราสาทประธาน ซึ่งอยู่ที่ยอดเขาทางใต้สุดของปราสาท (สูง 120 เมตรจากปลายตอนเหนือสุดของปราสาท, 525 เมตรจากพื้นราบของกัมพูชา และ 657 เมตรจากระดับน้ำทะเล[8]) แต่โครงสร้างปราสาทแห่งนี้ก็ยังแตกต่างอย่างมากจาก สถาปัตยกรรมปราสาทหินของหินโดยทั่วไปที่พบในพระนคร เพื่อจำลองเขาพระสุเมรุ อันเป็นที่ประทับของเทพเจ้า ตามคติความเชื่อของฮินดู

ทางเข้าสู่ปราสาทประธานนั้น มีโคปุระ (ซุ้มประตู[1]) คั่นอยู่ 5 ชั้น (ปกติจะนับจากชั้นในออกมา ดังนั้นโคปุระชั้นที่ 5 จึงเป็นส่วนที่ผู้เข้าชมจะพบเป็นส่วนแรก) โคปุระแต่ละชั้นก่อนถึงลานด้านหน้า จะผ่านบันไดหลายขั้น โคปุระแต่ละชั้นจึงเปลี่ยนระดับความสูงทีละช่วง นอกจากนี้โคปะรุยังบังมิให้ผู้ชมเห็นส่วนถัดไปของปราสาท จนกว่าจะผ่านทะลุแต่ละช่วงไปแล้ว ทำให้ไม่สามารถแลเห็นโครงสร้างปราสาททั้งหมดจากมุมใดมุมหนึ่งได้





สถาปัตยกรรม

ทับหลังสลักภาพพระกฤษณะกำลังรบกับอรชุน ที่โคปุระแห่งที่ 3ปราสาทพระวิหาร มีลักษณะเป็นแบบศิลปะบันทายศรี ลักษณะบางส่วนคล้ายคลึงกับพระวิหารของปราสาทนครวัด รูปรอยแกะสลักบนปราสาทสันนิษฐานได้ว่าเป็นศาสนสถานของศาสนาฮินดูลัทธิไศวนิกาย มีพระศิวะหรือพระอิศวรเป็นเทพสูงสุดของศาสนา เชื่อกันว่าสร้างขึ้นเพื่อถวายพระศิวะที่ทรงประทับบนยอดเขาไกรลาส ซึ่งเป็นยอดเขาสูงสุดของเขาพระสุเมรุ ศูนย์กลางจักรวาลปราสาทพระวิหารจึงสร้างบนหน้าผาเป้ยตาดี หากมองจากข้างล่างผาจะเห็นตัวปราสาทเหมือนวิมานสวรรค์ลอยอยู่บนฟ้า[7]

ปราสาทประกอบด้วยสถาปัตยกรรมต่าง ๆ มากมาย ได้แก่ ปราสาทประธาน ระเบียงคด โคปุระ อาคารรูปกากบาท วิหาร บรรณาลัย และบันไดนาคพร้อมทางเดิน

ปราสาทพระวิหารมีลักษณะแผนผังที่ใช้แกนเป็นหลัก โดยจัดวางผังหันไปทางทิศเหนือ ซึ่งแตกต่างจากปราสาทอื่นๆ ซึ่งตามปกติมักจะหันหน้าไปทางทิศตะวันออก อันเนื่องจากภูมิศาสตร์เป็นเครื่องกำหนดแล้ว ก็น่าจะเกิดจากปัจจัยอื่นบางประการที่แสดงถึงความสัมพันธ์กับดินแดนเขมรสูงในอดีต ตัวปราสาทประธานเป็นจุดศูนย์กลางล้อมรอบด้วยระเบียงคดทั้งสี่ด้าน ปราศจากบรรณาลัยขนาบเบื้องหน้า การวางผังที่กำหนดตำแหน่งอาคารมีความสมบูรณ์ลงตัวตั้งแต่แรกเริ่มของการก่อสร้าง โดยไม่มีการแก้ไขต่อเติมบริเวณลานชั้นในภายหลัง วัสดุตัวปราสาทสร้างด้วยหินทรายและหินดาน โดยเทคนิคการก่อสร้างทำโดยนำก้อนศิลาทรายซึ่งตัดเป็นแท่งสี่เหลี่ยมขนาดไล่เลี่ยกันวางซ้อนกันขึ้นไปตามรูปผังที่กำหนดไว้ โดยอาศัยน้ำหนักของแท่งศิลาทรายแต่ละก้อนกดทับกันเพียงอย่างเดียว มีส่วนยึดจะใช้เมื่อจำเป็นเท่านั้น

ไม่มีความคิดเห็น: